9 วิธีป้องกันไมเกรน และเคล็ดลับสู้ไมเกรนด้วยน้ำมันหอมระเหย

หัวข้อ

เจาะลึกอาการปวดหัวไมเกรน อาการต่างๆของไมเกรน ปัจจัยกระตุ้นไมเกรน วิธีหลีกเลี่ยง ป้องกันไมเกรน ไปจนถึงการรับมือไมเกรนด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงธรรมชาติบำบัดด้วยน้ำมันหอมระเหยสำหรับรับมือไมเกรน

Share

ไมเกรนคืออะไร?

ไมเกรน (Migraine) เป็นภาวะทางระบบประสาทที่ทำให้มักมีอาการปวดหัวรุนแรง ทำให้ร่างกายทรุดโทรม รวมถึงมีอาการต่างๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน พูดลำบาก ชาหรือรู้สึกเสียวซ่า ไวต่อแสงและเสียง

อาการปวดหัวไมเกรนจะทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงที่ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันเป็นเรื่องยากมาก

ไมเกรนสามารถเริ่มเป็นได้ตั้งแต่วัยเด็ก หรือเกิดขึ้นเมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นไมเกรนมากกว่าผู้ชาย ประวัติครอบครัวเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยที่สุดในการเป็นไมเกรน

อาการปวดหัวไมเกรนจะแตกต่างจากอาการปวดหัวอื่นๆ

วิธีสังเกตุอาการ ไมเกรน

วิธีสังเกตุอาการ ไมเกรน ปวดหัว หรือหลอดเลือดในสมอง?

อาการปวดหัว

อาการปวดอาจมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง และมักเกิดขึ้นที่ศีรษะทั้งสองข้าง หรือปวดเฉพาะบริเวณ เช่น หน้าผาก ขมับ และหลังคอ 

อาการปวดหัวสามารถเกิดขึ้นได้นาน 30 นาทีถึงหนึ่งสัปดาห์ ส่วนใหญ่อาการปวดหัวที่พบบ่อยคือปวดหัวจากความเครียด ความวิตกกังวล หรือจากอาการตึงของกล้ามเนื้อ

อาการปวดมักจะปวดเล็กน้อยถึงปานกลางทั่วทั้งศีรษะ และมักจะจะหายไปภายใน 2-3 ชั่วโมง ในขณะที่ไมเกรนมีแนวโน้มที่จะอยู่ได้นานกว่า และมักจะทำให้ร่างกายอ่อนแอด้วย

อาการปวดหัวไมเกรน

อาการปวดหัวรุนแรง และมักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น

  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ปวดหลังตา หรือหูข้างเดียว
  • ปวดในขมับ
  • เห็นจุดหรือแสงกระพริบ
  • ไวต่อแสง หรือเสียง (หรือทั้งสองอย่าง)
  • สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว

อาการปวดหัวไมเกรนอาจอยู่ในระดับปวดปานกลางถึงรุนแรง บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรงจนต้องไปพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉิน

อาการปวดหัวไมเกรนมักจะปวดศีรษะเพียงข้างเดียว อย่างไรก็ตาม อาจมีอาการปวดหัวไมเกรนที่ส่งผลต่อศีรษะทั้งสองข้างได้

อาการปวดหัวจากโรคหลอดเลือดในสมอง

บางครั้งโรคหลอดเลือดในสมองสามารถมีอาการคล้ายปวดหัวไมเกรนได้

สิ่งสำคัญคือต้องไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการปวดหัวลักษณะนี้:

  • พูดไม่ชัด
  • หน้าเบี้ยวครึ่งซีก
  • ขาหรือแขนอ่อนแรง
  • เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและรุนแรงโดยไม่มีอาการเตือน
  • มีอาการเป็นไข้ คอแข็ง สับสน ชัก มอง
  • เห็นภาพซ้อน อ่อนแรง ชา หรือพูดลำบาก
  • ปวดหัวมากที่สุดอย่างผิดปกติ
  • สูญเสียสติ

ไมเกรนเกิดจากอะไร?

นักวิจัยยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของไมเกรนได้ อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบางอย่างที่สามารถส่งเสริมทำให้เกิดภาวะไมเกรนได้

ปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรน ได้แก่:

  • การสัมผัสกับสิ่งเร้าทางประสาทสัมผัสที่รุนแรง เช่น เสียงดัง กลิ่นแรง และแสงจ้า
  • อากาศร้อนจัด หรือเย็นจัด
  • ความเครียดทางจิตใจ หรือร่างกาย
  • การขาดน้ำ
  • การงดมื้ออาหาร
  • ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร หรือการย่อยอาหาร
  • การบริโภคอาหารบางชนิด
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มแอลกอฮอล์
  • การออกกำลังกายหนักเกินไป
  • การเดินทาง หรือเจ็ตแล็ก
  • การเปลี่ยนแปลงของความดันบรรยากาศ
  • การเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมอง เช่น การลดลงของระดับของสารเคมีเซโรโทนิน
  • การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในสตรีเช่น เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน ความผันผวนฮอร์โมนในช่วงมีประจำเดือน การตั้งครรภ์หรือวัยหมดประจำเดือน
  • ยาที่ใช้ฮอร์โมน รวมถึงยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ไนโตรกลีเซอรีน ยาขยายหลอดเลือด
  • การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันตามปกติ เช่น ชั่วโมงทำงาน หรือเข้านอนไม่เป็นเวลา

หากคุณมี หรือสงสัยว่ามีอาการไมเกรน วิธีระบุสาเหตุที่ดีที่สุดคือบันทึกรายละเอียดที่อาจเป็นตัวกระตุ้นอาการไมเกรนเก็บไว้

เขียนกิจกรรมที่กำลังทำ อาหารที่กิน และยาที่ทานก่อนไมเกรนจะเริ่ม ซึ่งจะช่วยระบุตัวกระตุ้น เพื่อระบุว่าไมเกรนของคุณเกิดจากอะไรได้บ้าง

วิธีป้องกันไมเกรน

9 วิธีป้องกันไมเกรน

มีปัจจัยหลายอย่าง ที่สามารถเป็นตัวกระตุ้นอาการไมเกรนได้ ซึ่งการจดบันทึก เพื่อหาตัวกระตุ้นไมเกรน และหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้นจะสามารถช่วยได้อย่างมาก

วิธีหลีกเลี่ยงอาการไมเกรน

  • อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ผู้ชายควรดื่มน้ำประมาณ 13 แก้ว ผู้หญิงควรดื่ม 9 แก้ว ต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงการข้ามมื้ออาหาร
  • ได้รับการนอนหลับที่มีคุณภาพ คุณภาพการนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพโดยรวม
  • เลิกบุหรี่
  • ให้ความสำคัญกับการลดความเครียดในชีวิตประจำวัน
  • เรียนรู้ทักษะการผ่อนคลาย
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายอาจช่วยให้คุณไม่เพียงแค่ลดความเครียดแต่ยังลดน้ำหนักได้อีกด้วย ผู้เชี่ยวชาญเชื่อโรคอ้วนเชื่อมโยงอาการปวดหัวไมเกรนกับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป อย่าลืมวอร์มอัพ เริ่มออกกำลังกายอย่างช้าๆ เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นทีละน้อย การเริ่มต้นออกกำลังเร็วและรุนแรงเกินไป อาจทำให้เกิดอาการไมเกรนได้

1. บันทึกไดอารี่ปวดหัว

การจดบันทึกประจำวันจะช่วยให้คุณระบุตัวกระตุ้นไมเกรนได้อย่างง่ายดาย ต่อไปนี้คือตัวอย่างสิ่งที่ควรจดบันทึกไว้ในไดอารี่นี้:

  • สิ่งที่กินและดื่ม
  • กิจวัตรการออกกำลังกาย และตารางเวลาประจำวัน
  • สภาพอากาศ
  • ความรู้สึกและอารมณ์ที่รุนแรงที่มีในระหว่างวัน
  • การทานยา
  • เวลาและความรุนแรงของอาการปวดหัวที่เกิดขึ้น

การจดไดอารี่ปวดหัว จะช่วยให้คุณเห็นรูปแบบในการเกิดไมเกรนและจะทำให้หลีกเลี่ยงได้ง่ายขึ้น

2. เลี่ยงเสียงดังและแสงจ้า

เสียงดัง ไฟกะพริบ (เช่น ไฟแฟลช) และการกระตุ้นทางประสาทสัมผัส เป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะไมเกรนที่พบได้บ่อย

สิ่งเร้าเหล่านี้อาจหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่การรู้ว่าสิ่งเร้าเกิดขึ้นในสถานการณ์และสภาพแวดล้อมบางอย่างอาจช่วยได้ ซึ่งรวมถึง:

  • ขับกลางคืน
  • อยู่ในโรงภาพยนตร์
  • เข้าร่วมคลับหรือสถานที่แออัด
  • รับแสงจ้าจากดวงอาทิตย์
  • ใช้สายตาบนจอมากเกินไป

ใช้เวลาพักจากทีวี มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ เพื่อพักสายตาบ้าง รวมถึงการปรับระดับความสว่างบนหน้าจอให้เหมาะสมกับแสงสว่างในห้อง

3. ใส่ใจเลือกอาหาร

อาหารหรือส่วนผสมในอาหารบางชนิดอาจกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนได้ เช่น

  • แอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ช็อคโกแลต ชา กาแฟ แชมเปญ ไวน์แดง
  • เนื้อสัตว์แปรรูป
  • วัตถุปรุงแต่งอาหาร เช่น ไนเตรต (สารกันบูดในการบ่มเนื้อสัตว์) แอสปาแตม (น้ำตาลเทียม) หรือผงชูรส โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG)
  • ไทรามีน (Tyramine) ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติในอาหารบางชนิด สารไทรามีนจะมีปริมาณมากขึ้น ในอาหารหมักดอง เช่น ชีส กะหล่ำปลีดอง และซีอิ๊ว อย่างไรก็ตาม กำลังการวิจัยอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับบทบาทของไทรามีน ซึ่งอาจเป็นตัวป้องกันอาการปวดหัวในบางคนแทนที่จะเป็นตัวกระตุ้น

อย่าลืมจดบันทึก เพื่อให้รู้ว่าอาหาร และสารเติมแต่งใดทำให้คุณปวดหัว จะได้หลีกเลี่ยงไว้ก่อน

4. ระวังช่วงฮอร์โมนเปลี่ยน

ฮอร์โมนมีบทบาทสำคัญในอาการไมเกรน ผู้หญิงหลายคนมักจะมีอาการปวดหัวไมเกรนมากขึ้นในช่วงหรือก่อนมีประจำเดือน

ดังนั้นผู้หญิงควรระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องอาหาร และพฤติกรรมการออกกำลังกายในช่วงเวลานี้

ยาคุมกำเนิด และการบำบัดทดแทนฮอร์โมน (HRT) อาจเพิ่มความถี่และความรุนแรงของไมเกรนได้ในบางราย

5. เสริมธาตุอาหาร

การได้รับสารอาหารที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญ การทานสมุนไพรและแร่ธาตุบางชนิดอาจช่วยป้องกันไมเกรนได้

การขาดธาตุแมกนีเซียม มักมีส่วนทำให้เกิดอาการไมเกรน ซึ่งอาหารเสริมอาจช่วยเสริมสารอาหารที่คุณขาดจากอาหารปกติ และช่วยลดการลุกลามของไมเกรนได้

ลองปรึกษากับแพทย์ของคุณเกี่ยวกับการรักษาด้วยสมุนไพร และอาหารเสริมอื่นๆ ที่ไม่ต้องสั่งโดยแพทย์ที่อาจช่วยบรรเทาอาการไมเกรนของคุณได้

6. ใส่ใจสภาพอากาศ

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอาจส่งผลต่อรูปแบบไมเกรนได้เช่นกัน

ความชื้นสูง และอุณหภูมิที่ร้อนจัดสามารถกระตุ้นอาการปวดหัวได้เช่นเดียวกับวันที่ฝนตก

หากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย คุณอาจต้องหยุดพักจากกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้เวลาออกนอกบ้านให้น้อยที่สุดในสภาพอากาศที่ทำให้อาการไมเกรนกำเริบ

7. กินและนอนเป็นเวลา

การอดนอน หรือการอดอาหาร อาจทำให้เกิดอาการไมเกรนกำเริบได้

หลีกเลี่ยงการข้ามมื้ออาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดลดลง

ควรทานอาหารเช้าภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากตื่นนอน หลังจากนั้นทานอาหารทุก 3-4 ชั่วโมง ความหิวและการขาดน้ำทำให้เกิดอาการไมเกรนได้

ให้แน่ใจว่าคุณดื่มน้ำเพียงพอ และอย่าข้ามมื้ออาหารในแต่ละวัน

การอดนอน หรือแม้แต่การนอนมากเกินไป ก็สามารถซ้ำเติมอาการไมเกรนให้แย่ลงได้ ควรนอนอย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง และอย่าพยายามชดเชยการนอนที่เสียไปด้วยการงีบหลับนานเกินไป

ไมเกรนทำให้เกิดความเหนื่อยล้า และการนอนหลับไม่เพียงพอทำให้ไมเกรนกำเริบได้ง่ายขึ้น

ผู้ที่เป็นไมเกรนเรื้อรังมักจะมีอาการกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และไม่สามารถนอนหลับได้เพียงพอเพื่อให้รู้สึกได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ส่งผลให้อาการไมเกรนแย่ลง

คนที่เป็นโรคไมเกรนมักต่อสู้กับอาการนอนไม่หลับ ซึมเศร้า และวิตกกังวล ซึ่งมีผลกระตุ้นให้อาการไมเกรนแย่ลง เป็นวงจรอุบาทว์ การนอนไม่พอทำให้เกิดอาการปวดหัว และอาการปวดหัวก็ส่งผลให้นอนหลับได้ไม่ดี

ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ลองอ่านเทคนิคการแก้ปัญหาอดนอน และวิธีหลับให้ดีขึ้น และ วิธีแก้อาการนอนกรน

8. รับมือความเครียดให้เป็น

ความเครียดสามารถเป็นตัวกระตุ้นไมเกรนได้ในหลายๆคน

แม้ว่าเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ที่ตึงเครียดได้ตลอดเวลา แต่เราสามารถควบคุมวิธีที่เราตอบสนองต่อสถานการณ์เหล่านั้นได้

ลองเทคนิคการผ่อนคลาย เช่น การทำสมาธิ, น้ำมันหอมระเหยบำบัด, โยคะ หรือไบโอฟีดแบ็ค ซึ่งสามารถช่วยลดระดับของความเครียดลงได้

9. เลือกออกกำลังแบบผ่อนคลาย

การออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี แต่การออกกำลังกายที่หนักเกินไป เช่น การยกน้ำหนัก ก็อาจทำให้ปวดหัวไมเกรนได้

เลือกทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการลดความเครียดโดยไม่ทำให้ร่างกายเครียดมากเกินไป เช่น โยคะ แอโรบิกเบาๆ หรือไทเก็ก

อาหารตัวกระตุ้นไมเกรน

10 อาหารตัวกระตุ้นไมเกรน

อาหารที่มักพบว่าเป็นตัวกระตุ้นอาการไมเกรน  ไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารแปลก แต่มักเป็นอาการที่บริโภคในชีวิตประจำวัน

1. คาเฟอีน

อาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ช็อคโกแลต รวมถึงน้ำอัดลมที่มีคาเฟอีน

การบริโภคคาเฟอีนมากเกินไป รวมถึงอาการลงแดงคาเฟอีนอาจทำให้เกิดอาการไมเกรนหรือปวดหัวได้

อย่างไรก็ตาม American Migraine Foundation พบว่าคาเฟอีนสามารถช่วยยับยั้งอาการไมเกรนที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ยังสามารถบรรเทาอาการปวดหัวได้ด้วยการใช้เป็นครั้งคราว

2. สารให้ความหวานเทียม

อาหารแปรรูปหลายชนิดจะมีสารให้ความหวานเทียม ซึ่งใช้ทดแทนน้ำตาลเพื่อเพิ่มความหวาน

แต่สารให้ความหวานเทียมเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการไมเกรนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอสปาร์แตม (Aspartame)

แอสปาร์แตมถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีป้ายกำกับว่า “ไดเอท” รวมถึงอาหารอื่นๆ เช่น

  • ไอศกรีมไร้น้ำตาล
  • น้ำผลไม้ลดแคลอรี
  • หมากฝรั่ง
  • โยเกิร์ต
  • ลูกอมไร้น้ำตาล

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อาการไมเกรนถูกกระตุ้นจากสารให้ความหวานเทียม อย่าลืมอ่านฉลากอาหาร เครื่องดื่มต่างๆ ก่อนบริโภคเสมอ

3. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า กว่า 35% ของผู้เข้าร่วมทดลองรายงานว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในสาเหตุของไมเกรนของพวกเขา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไวน์แดง ซึ่งพบว่าเป็นตัวกระตุ้นมากกว่า 77% ของผู้เข้าร่วมที่รายงานว่าแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้นอาการไมเกรน

นอกจากนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนได้

4. ช็อกโกแลต

ตามรายงานของมูลนิธิ American Migraine Foundation ช็อกโกแลตถือเป็นสาเหตุหลักในการกระตุ้นอาการไมเกรน อันดับ 2 รองจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งช็อกโกแลตส่งผลกระทบประมาณ 22% ของผู้ที่เป็นไมเกรน

ช็อกโกแลตมีทั้งคาเฟอีนและ beta-phenylethylamine ซึ่งอาจทำให้ปวดหัวได้ในบางคน

5. อาหารที่มีผงชูรส

ผงชูรส หรือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG) เป็นเกลือโซเดียมของกรดกลูตามิกซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติในร่างกายของเรา

ผงชูรสพบได้ในอาหารบางชนิด และมีมักพบอยู่ในสารปรุงแต่งอาหาร นักวิจัยบางคนเชื่อมโยงผงชูรสกับอาการไมเกรนกำเริบ

มูลนิธิ American Migraine Foundation ตั้งข้อสังเกตว่าผงชูสอาจทำให้เกิดอาการไมเกรนอย่างรุนแรงได้ 10-15 % ของผู้ที่เป็นไมเกรน รวมถึงสารกันบูดอื่นๆ อาจเป็นตัวกระตุ้นไมเกรนได้ในบางคน

6. เนื้อหมัก เนื้อแปรรูป

เนื้อสัตว์ที่บ่มแล้ว รวมถึง แฮม และไส้กรอก ล้วนมีสารกันบูดที่เรียกว่าไนเตรต ซึ่งช่วยรักษาสีและรสชาติ อาหารเหล่านี้

สารกันบูดไนเตรตสามารถปล่อยไนตริกออกไซด์เข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งอาจจะช่วยขยายหลอดเลือดในสมอง

มีงานวิจัยที่พบว่าไนตริกออกไซด์สามารถก่อให้เกิดหรือมีส่วนทำให้เกิดไมเกรนได้

7. ชีสบ่ม

ชีสที่มีอายุมากจากการบ่ม มีสารที่เรียกว่าไทรามีน ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของโปรตีน

ยิ่งชีสมีอายุนานเท่าใด ปริมาณไทรามีนก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น

ไทรามีนเป็นสารเคมีอีกชนิดหนึ่งที่กล่าวกันว่าทำให้เกิดอาการปวดศีรษะและไมเกรน

ชีสที่มีไทรามีนสูง ได้แก่:

  • เฟต้าชีส (Feta)
  • บลูชีส (Blue cheese)
  • พาร์เมซานชีส (Parmesan)

8. อาหารหมักดอง

อาหารหมักดองอาจมีไทรามีนในปริมาณสูง เช่นเดียวกับชีสบ่ม อาหารเหล่านี้ได้แก่:

  • ผักดอง
  • กิมจิ
  • ชาคอมบุ (ซึ่งสามารถมีแอลกอฮอล์ได้)
  • กระเจี๊ยบเขียวดอง
  • พริกจาลาปิโนดอง

9. อาหารแช่แข็ง

การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มแช่แข็ง เช่น ไอศกรีมหรือน้ำอัดลม อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง

การทานอาหารเย็นจัดอย่างรวดเร็วหลังออกกำลังกาย หรือเมื่อรู้สึกตัวร้อนเกินไป อาจทำให้อาการปวดหัวกลายเป็นไมเกรนได้

10. อาหารรสเค็ม

อาหารรสเค็ม โดยเฉพาะอาหารแปรรูปรสเค็มที่อาจมีสารกันบูดที่เป็นอันตราย อาจทำให้เกิดอาการไมเกรนในบางคน

การบริโภคโซเดียมในระดับสูงอาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะหรือไมเกรนได้เช่นกัน

การรักษาไมเกรน

ไมเกรนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่แพทย์ของคุณสามารถช่วยให้คุณจัดการกับไมเกรนได้เพื่อให้คุณเป็นไมเกรนน้อย หรือช่วยให้อาการไมเกรนของคุณรุนแรงน้อยลงได้

การรักษาไมเกรนด้วยตนเอง

  • การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต รวมทั้งการจัดการความเครียดและการหลีกเลี่ยงอาการไมเกรน
  • ยาแก้ปวด หรือยาไมเกรนที่ต้องสั่งโดยแพทย์
  • การบำบัดด้วยฮอร์โมน หากดูเหมือนว่าไมเกรนจะเกิดขึ้นกับรอบเดือน
  • การบำบัดทางเลือก เช่น ไบโอฟีดแบ็ค, น้ำมันหอมระเหยบำบัด, การทำสมาธิ, การกดจุดหรือฝังเข็ม

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ปวดหัวมากเกินไป

การใช้ยาแก้ปวดหัวชนิดต่างๆ บ่อยครั้งและซ้ำๆ อาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ใช้ยาเกินขนาด ซึ่งผู้ที่เป็นไมเกรนมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้

ในการพิจารณาวิธีจัดการกับอาการปวดหัวไมเกรน ให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความถี่ในการรับประทานยาและทางเลือกในการรับประทานยา เพื่อป้องกันอาการปวดหัวจากการใช้ยามากเกินไป

น้ำมันหอมระเหยสำหรับอาการปวดหัวและไมเกรน

6 น้ำมันหอมระเหยยอดนิยมสำหรับอาการปวดหัวและไมเกรน

อโรมาเทอราพีคือการศาสตร์แห่งการใช้กลิ่นบำบัด จากสรรพคุณของสารประกอบที่อยู่ตามธรรมชาติในน้ำมันหอมระเหย เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่างๆ

น้ำมันหอมระเหยสามารถใช้บรรเทาอาการไมเกรนได้มั้ย?

เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยที่จำหน่ายในท้องตลาดมีหลายเกรด ตั้งแต่น้ำมันหอมระเหยสังเคราะห์ น้ำมันผสม น้ำมันหอมระเหยแท้ และน้ำมันหอมระเหยเกรดบำบัด

การใช้น้ำมันหอมระเหยบำบัด สามารถแสดงให้เห็นถึงผลในเชิงบวกที่อาจเกิดในการช่วยบำบัดอาการต่างๆที่เกิดจากไมเกรนได้

1. เปปเปอร์มินต์ (Peppermint)

จากข้อมูลของ Essential Oils US เปปเปอร์มินต์เป็นหนึ่งในน้ำมันยอดนิยมอันดับต้นๆ สำหรับบำบัดอาการไมเกรนที่ไม่รุนแรง เนื่องจากเปปเปอร์มินต์มีคุณสมบัติในการทำให้รู้สึกสงบ และช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้

การสูดดมน้ำมันหอมระเหยเปปเปอร์มินต์ ยังอาจสามารถช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้อีกด้วย

* ระวังอย่าทานวดเปปเปอร์มินต์ใกล้ดวงตามากเกินไปเพราะจะทำให้แสบตา

2. ลาเวนเดอร์ (Lavender)

งานวิจัยจาก European Journal of Neuroscience ศึกษาการบำบัดผู้ที่มีอาการไมเกรน 129 คน โดยสูดดมน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์เป็นเวลา 15 นาที

92 คนตอบสนองต่อกลิ่นลาเวนเดอร์โดยระบุว่าอาการปวดหัวลดน้อยลง นักวิจัยสรุปว่าการสูดดมน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์อาจเป็นการรักษาที่ปลอดภัยสำหรับการจัดการกับอาการไมเกรน

วารสารการแพทย์ Journal of Herbal Medicine ตีพิมพ์รายงานผู้เข้าร่วมในกลุ่มที่ใช้น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ ช่วงเวลา 3 เดือน พบว่าความถี่ และความรุนแรงของอาการไมเกรนลดลง

3. โรสแมรี่ (Rosemary)

น้ำมันหอมระเหยโรสแมรี่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ และเป็นยาแก้ปวดตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ

มีการใช้โรสแมรี่ในการแพทย์พื้นบ้านเป็นเวลาหลายร้อยปีสำหรับการลดความเครียด บรรเทาอาการปวด และช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาหรือป้องกันอาการปวดหัวได้

น้ำมันโรสแมรี่ยังช่วยลดอาการนอนไม่หลับ และช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งมีส่วนช่วยในเรื่องอาการปวดหัวได้เช่นกัน

4. ยูคาลิปตัส (Eucalyptus)

หากอาการปวดหัวไมเกรนของคุณเกิดจากปัญหาไซนัส หรือทางเดินหายใจ น้ำมันหอมระเหยยูคาลิปตัสสามารถเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดคนใหม่ของคุณได้

น้ำมันนี้จะช่วยเปิดช่องจมูก ล้างไซนัส และช่วยบรรเทาอาการจมูกตันที่กระตุ้นอาการปวดหัว

การผสมน้ำมันเปปเปอร์มินต์ และน้ำมันยูคาลิปตัส สามารถช่วยให้ผ่อนคลายทั้งกล้ามเนื้อ และจิตใจ ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหัวได้

5. เยอรมัน คาโมมายล์ (German Chamomile)

น้ำมันหอมระเหยจากดอกคาโมไมล์ช่วยผ่อนคลายร่างกาย และบรรเทาอาการตึงเครียดของกล้ามเนื้อ

น้ำมันคาโมมายล์สามารถช่วยรักษาอาการปวดหัวตึงเครียดได้เป็นอย่างดี และยังช่วยลดความวิตกกังวลและอาการนอนไม่หลับ ซึ่งเป็นสาเหตุทั่วไปของอาการปวดหัวไมเกรนในหลายๆคนได้ด้วย

* สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้น้ำมันหอมระเหยจากดอกคาโมมายล์ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร

6. พัตชูลี (Patchouli)

Patchouli หรือ พิมเสน มีสารประกอบที่มีประสิทธิภาพอย่างมากในการป้องกันการอาเจียน เนื่องจากความสามารถในการช่วยลดการหดตัวของกล้ามเนื้อในทางเดินอาหารที่เกี่ยวข้องกับการอาเจียน

ใช้น้ำมันพัตชูลี 1-3 หยด ผสมเจือจางกับน้ำมันตัวพา (Carrier Oil) ในอัตราส่วน 1:1 ทานวดบริเวณหลังใบหู และรอบสะดือ 2-3 ครั้ง ทุกๆ 1 ชั่วโมง (เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน สามารถผสมใส่ขวดลูกกลิ้งก็ยังได้)

วิธีใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อช่วยบรรเทาอาการไมเกรน

วิธีใช้น้ำมันหอมระเหยมีหลากหลายวิธี สามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างสะดวก เช่น

  • หยดน้ำมัน 1-2 หยด ลงบนนิ้วชี้ แล้วทานวดไปที่บริเวณขมับ หลังศีรษะ กลางหน้าผาก และ ปลายจมูก
  • หยดน้ำมัน 1-2 หยด ลงบนนิ้วชี้ แล้วนวดไปที่บริเวณนิ้วโป้งหัวแม่มือ และหัวแม่เท้าทั้งสองข้าง
  • หยดน้ำมัน 1-2 หยดลงบนผ้าขนหนูที่จุ่มน้ำอุ่น ทำเป็นลูกประคบ แล้ววางประคบบริเวณหลังคอ และแนวกระดูกสันหลัง
  • หยดน้ำมัน 2-3 หยด ผสมลงในอ่างอาบน้ำอุ่น
  • หยดน้ำมัน 2-3 หยด ผสมใส่เครื่องพ่นละอองในห้อง แล้วปล่อยให้กลิ่นหอมๆ สดชื่นผ่อนคลายกระจายไปในอากาศ
  • ผสมน้ำมันหอมระเหย 15-20 หยด กับน้ำมันตัวพา (Carrier Oil) ไว้ในขวดลูกกลิ้งขนาด 10ml สำหรับพกติดตัว กลิ้งทาได้ทันทีเมื่อคุณรู้สึกว่าเป็นไมเกรน
  • ผสมน้ำมันใส่ขวดสเปรย์ ฉีดพ่นบนหมอน และที่นอน กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยอย่างลาเวนเดอร์ หรือคาโมมายล์ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

อาการไมเกรน 3 ระยะ

ระยะพรีโดม (Predrome)

เป็นระยะเตือนก่อนเกิดอาการไมเกรน โดยอาจเริ่มต้น 1-2 วันก่อนอาการปวดหัว ระยะนี้เรียกว่า prodrome อาการในระยะนี้อาจรวมถึง:

  • หิวบ่อย
  • ซึมเศร้า
  • รู้สึกเหนื่อยล้าหรือพลังงานต่ำ
  • หาวบ่อย
  • สมาธิสั้น
  • หงุดหงิด
  • คอตึง
  • พูดไม่ชัดเจน
  • รู้สึกเหน็บหรือเสียวซ่าที่ใบหน้า แขนหรือขา
  • มองเห็นรูปร่าง แสงวาบ แสงกระพริบ หรือจุดสว่าง
  • สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว

ระยะโจมตี

มักมีอาการปวดหัวรุนแรง

เมื่ออาการปวดหัวไมเกรนเกิดขึ้นในระยะนี้ ในบางคน อาการในระยะนี้สามารถคงอยู่นานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน

อาการไมเกรนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อาการรวมถึง:

  • ไวต่อแสงและเสียงมากขึ้น
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • วิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด
  • ปวดศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นข้างซ้าย ข้างขวา ด้านหน้าหรือหลัง หรือที่ขมับ
  • ปวดศีรษะเป็นจังหวะ ปวดตุบๆ

ระยะโพสโดรม (Postdrome)

มักจะเป็นหลังจากระยะโจมตี ในระยะนี้มักจะมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และความรู้สึก สิ่งเหล่านี้มีตั้งแต่ความรู้สึกร่าเริงและมีความสุขมาก ไปจนถึงรู้สึกเหนื่อยล้าและไม่แยแส อาการปวดศีรษะที่ไม่รุนแรงอาจยังคงมีอยู่

ไมเกรนในเด็กและวัยรุ่น

เด็กและวัยรุ่นประมาณ 10% มีอาการไมเกรน อาการโดยทั่วไปจะคล้ายกับอาการไมเกรนในผู้ใหญ่

วัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะมีไมเกรนเรื้อรัง (CM) มากขึ้น อาการปวดหัวไมเกรนหลายชั่วโมงต่อวัน นานกว่า 15 วันตลอด 3 เดือนขึ้นไป ไมเกรนเรื้อรังอาจทำให้ลูกของคุณขาดเรียน หรือขาดกิจกรรมทางสังคม

ไมเกรนสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ หากผู้ปกครองโดยสายเลือดมีประวัติเป็นไมเกรน เด็กมีโอกาส 50%-75% ที่จะมีอาการเหล่านี้

นอกจากนี้ หลายสิ่งหลายอย่างสามารถกระตุ้นให้ลูกของคุณเป็นไมเกรนได้ เช่น:

  • ความเครียด
  • คาเฟอีน
  • ยารวมถึงการคุมกำเนิด และการรักษาโรคหอบหืด
  • กิจวัตรประจำวัน

ค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไมเกรนในเด็ก จากนั้นปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาและป้องกันไมเกรน นอกจากการใช้ยา แพทย์ของคุณอาจแนะนำเทคนิคการผ่อนคลายและการบำบัดเชิงป้องกัน เพื่อให้บุตรหลานของคุณสามารถเข้าใจและจัดการกับไมเกรนได้ดีขึ้น

ประเภทของไมเกรน

ประเภทของไมเกรน

ไมเกรนมีหลายประเภท สองประเภทที่พบบ่อยที่สุดคือไมเกรนที่ไม่มีอาการเตือนและไมเกรนที่มีอาการเตือน

ผู้ป่วยไมเกรนหลายคนมีอาการไมเกรนมากกว่าหนึ่งประเภท

ไมเกรนไม่มีอาการเตือน (Migraine without aura)

ไมเกรนชนิดที่พบบ่อยที่สุด ผู้ที่มีอาการไมเกรนประเภทนี่ มีอาการไมเกรนอย่างน้อย 5 ครั้งที่มีลักษณะเหล่านี้:

  • อาการปวดศีรษะมักเกิดนาน 4-72 ชั่วโมงหากไม่ได้รับการรักษาหรือการรักษาไม่ได้ผล
  • ปวดหัวด้านเดียว
  • ปวดหัวเป็นจังหวะ
  • ระดับความเจ็บปวดอยู่ในระดับปานกลางหรือรุนแรง
  • อาการปวดหัวจะรุนแรงขึ้นเมื่อเคลื่อนไหว เช่น เวลาเดินหรือขึ้นบันได
  • มีอาการไวต่อแสง หรือ ไวต่อเสียง
    อาการคลื่นไส้ แบบมีหรือไม่มีอาการอาเจียนหรือท้องเสีย

ไมเกรนมีอาการเตือน (Migraine with aura)

มักพบใน 25% ของผู้ที่มีอาการไมเกรน

ผู้ที่มีอาการไมเกรนประเภทนี้ จะมีอาการเตือนไมเกรนอย่างน้อย 2 ครั้งที่มีลักษณะเหล่านี้ ตั้งแต่ 5 นาทีถึง 1 ชั่วโมง มักเกิดขึ้นพร้อมกับอาการปวดหัว หรือ 1 ชั่วโมงก่อนที่อาการปวดหัวจะเริ่มขึ้น:

  • ปัญหาการมองเห็น
  • ปัญหาทางประสาทสัมผัสของร่างกาย ใบหน้า หรือลิ้น เช่น อาการชา รู้สึกเสียวซ่า
  • พูดลำบากหรือ พูดไม่ชัดเจน
  • ปัญหาในการขยับตัว ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรืออาการอ่อนแรงซึ่งอาจอยู่ได้นานถึง 72 ชั่วโมง
  • เวียนศีรษะ บ้านหมุน
  • หูอื้อ
  • เห็นภาพซ้อน
  • สติลดลง
  • เห็นแสงวาบ หรือตาบอดชั่วคราว

ไมเกรนเรื้อรัง (Chronic migraines)

ไมเกรนเรื้อรังสามารถมีอาการของไมเกรนและปวดหัวตึงเครียดได้ บางครั้งเรียกว่าไมเกรนชนิดรุนแรง และอาจเกิดจากการใช้ยาเกินขนาด

ผู้ที่มีอาการไมเกรนเรื้อรังจะมีอาการปวดหัวตึงเครียดรุนแรง หรือปวดหัวไมเกรนมากกว่า 15 วันต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป ผู้ที่เป็นโรคไมเกรนเรื้อรังมีแนวโน้มที่จะมีอาการ เช่น:

  • ปวดหัวอย่างรุนแรง
  • ทุพพลภาพมากขึ้น
  • ภาวะซึมเศร้า
  • ปวดเรื้อรังอีกประเภทอื่นๆร่วม เช่น ข้ออักเสบ
  • มีปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง
    เคยมีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือคอ

ไมเกรนเฉียบพลัน (Acute migraine)

ผู้ที่มีอาการไมเกรนเฉียบพลัน จะปวดหัวมากถึง 14 วันต่อเดือน แต่จะมีความถี่น้อยกว่าคนที่เป็นไมเกรนเรื้อรัง

ไมเกรนเวียนศีรษะ (Vestibular migraine)

เป็นไมเกรนที่เกี่ยวกับอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ประมาณ 40% ของผู้ที่มีอาการไมเกรนมีอาการไมเกรนเวียนศีรษะ 

อาการเหล่านี้ส่งผลต่อการทรงตัว ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หรือทั้งสองอย่าง คนทุกวัยรวมทั้งเด็กอาจมีอาการไมเกรนประเภทนี้ได้

ไมเกรนเวียนศีรษะมักไวต่ออาหารที่ทำให้เกิดอาการไมเกรน ดังนั้น คุณอาจสามารถป้องกันหรือบรรเทาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนและอาการอื่นๆ ได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงอาหาร

ไมเกรนที่ตา (Optical migraine)

เป็นไมเกรนประเภทที่พบน้อย ส่งผลกระทบกับตาข้างเดียว อาการอาจรวมถึง:

  • เห็นแสงวาบ ประกายระยิบระยับ
  • เห็นจุดบอดหรือการสูญเสียการมองเห็นบางส่วน
  • สูญเสียการมองเห็นในตาข้างเดียว

ปัญหาการมองเห็นเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากปวดหัว

คนส่วนใหญ่ที่มีอาการไมเกรนที่ตา เคยมีอาการไมเกรนแบบอื่นมาก่อน

ไมเกรนประจำเดือน (Menstrual migraine)

ไมเกรนที่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนส่งผลกระทบต่อผู้หญิงถึง 60% ที่มีอาการไมเกรนชนิดใดก็ได้ สามารถเกิดขึ้นทั้งก่อน ระหว่าง หรือหลังการมีประจำเดือน และระหว่างการตกไข่

ไมเกรนประจำเดือนมักมีแนวโน้มที่จะรุนแรง นาน และมีอาการคลื่นไส้มากกว่าไมเกรนที่ไม่เกี่ยวข้องกับรอบเดือน

ไมเกรน ฮอร์โมน (Hormonal migraines)

ไมเกรนจากฮอร์โมนมีความเชื่อมโยงกับฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งโดยทั่วไปคือเอสโตรเจน ซึ่งเป็นไมเกรนระหว่างช่วงเหล่านี้:

  • ประจำเดือน
  • ตกไข่
  • ตั้งครรภ์
  • วัยหมดประจำเดือน
  • 2-3 วันแรกหลังจากที่เริ่มหรือหยุดใช้ยาที่มีเอสโตรเจน เช่น ยาคุมกำเนิดหรือการบำบัดด้วยฮอร์โมน

ไมเกรนที่ไม่มีอาการปวดหัว (Acephalgic migraine)

ไมเกรนประเภทนี้มักพบในผู้ที่เริ่มมีอาการไมเกรนหลังจากอายุ 40 ปี

มักมีอาการเตือนไมเกรน เช่น มีอาการทางสายตา อาการชา มีปัญหาในการพูด รู้สึกอ่อนแอ และไม่สามารถขยับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายได้ตามปกติ

คลื่นไส้จากไมเกรนทำไงดี?

มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่เป็นไมเกรนมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการเหล่านี้อาจเริ่มพร้อมกับอาการปวดหัวไมเกรน หรือเริ่มขึ้นประมาณหนึ่งชั่วโมงตามหลังอาการปวดหัวไมเกรน

หากคุณแค่มีอาการคลื่นไส้ คุณอาจใช้ยาไมเกรนตามปกติได้ อย่างไรก็ตาม การอาเจียนสามารถป้องกันไม่ให้คุณกินยาหรือเก็บยาไว้ในร่างกายได้นานพอที่จะดูดซึมได้ จนทำให้อาการไมเกรนของคุณมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น

รักษาอาการคลื่นไส้ และป้องกันการอาเจียน

หากคุณมีอาการคลื่นไส้แต่ไม่อาเจียน แพทย์อาจแนะนำยาป้องกันอาการคลื่นไส้ (antiemetic) ซึ่งสามารถช่วยป้องกันการอาเจียนและทำให้อาการคลื่นไส้ดีขึ้นได้

การกดจุดอาจช่วยรักษาอาการคลื่นไส้ไมเกรนได้เช่นกัน มีงานวิจัยพบว่าการกดจุดตั้งแต่ 30 นาที ถึง 4 ชั่วโมง สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการคลื่นไส้ที่เกี่ยวข้องกับไมเกรนได้

น้ำมันหอมระเหยบำบัดอย่าง Peppermint หรือ Patchouli ก็เป็นทางเลือกที่ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ในหลายๆคน

รักษาอาการคลื่นไส้ และอาเจียนร่วมกัน

หากไมเกรนของคุณทำให้มีอาการคลื่นไส้ร่วมกับอาการอาเจียนรุนแรง อาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการเริ่มใช้ยาเชิงป้องกัน

Search